วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

"โหวด" กำเนิดจากหนองพอก

โหวด เสียงจากลำไผ่

โหวด เดิมเป็นของเล่นของคนอีสาน ใช้แกว่งเล่นเหมือน "สนู" ต่อมาได้ดัดแปลงมาเป็นเครื่องดนตรีของวงดนตรีพื้นเมือง ประเภทเครื่องเป่า สามารถเป่าหรือแกว่งให้เกิดเสียงดังได้

แคนและโหวด โหวด
เครื่องดนตรีจากไม้ไผ่ แคน และ โหวด โหวด

โหวด เป็นชื่อเครื่องเป่าไม่มีลิ้น ทำด้วยไม้ไผ่ (ชนิดหนึ่ง) แบบเดียวกับขลุ่ยแต่ประกอบด้วย ขลุ่ยต่างชนิดหลายเลาติดอยู่รอบแกน แต่ละเลาให้ระดับเสียงเพียง ๑ ระดับ เวลาเป่าหรือแกว่งจะมีเสียงดัง "โหวดๆ" หรือ "หวูดๆ" ประวัติความเป็นมาของโหวด

เดิมโหวดเป็นของเล่นของเด็กเลี้ยงควาย ชาวภาคอีสานทั่วๆ ไป ใช้เล่นในช่วงปลายฤดูฝนก่อนเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ใช้เล่น ๓ กรณี คือ

  1. เป่าเล่นเพื่อประโลมใจขณะขี่หลังควายหรือพาควายเล็มหญ้าตามทุ่งนา
  2. ใช้แกว่งและเหวี่ยงเพื่อฟังเสียง ด้วยการต่อหางโหวดให้ยาว แล้วเอาบ่วง ๒ หัว ที่เรียกว่า "ตอง" คล้องหัวและหางโหวด แล้วแกว่งรอบศรีษะด้วยความเร็วสูง เสียงปะทะรูโหวดทุกลูกพร้อมๆ กัน จะเกิดเสียงดังว่า "ลาวๆ" หรือ "แงวๆ" ฟังแล้วชวนเพลิดเพลิน ชาวไทยลาวภาคอีสานเรียกการแกว่งโหวด เช่นนี้ว่า "การแงวโหวด"
  3. การโยนเล่นเป็นกีฬา กล่าวคือเมื่อแกว่งโหวดฟังเสียงพอใจแล้วก็ปล่อยหางบ่วง ทำให้โหวดลอยโด่งขึ้นไปในอากาศเกิดเสียงดัง "โหวดๆ" หรือ "โหว่ๆ" เรียกว่า การทิ้มโหวด (ถิ้ม-ทิ้ม)
    คนโบราณมีความเชื่อว่าโหวดเกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้วตามนิยายปรัมปราที่เล่า ขานกันมาโหวดคนอีสานโบราณเชื่อกันว่า เป็นสื่อที่มนุษย์ใช้บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอให้ฝนหยุดตก ในที่นี้หมายถึงพระยาแถน ผู้ซึ่งประทานน้ำฝนให้ตกในเมืองมนุษย์ ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งจะทำให้ความเสียหายกับผลิตผลได้ จึงเป็นผลให้ไม่เป็นที่นิยมเล่นโหวดในฤดูฝน (เพราะกลัวฝนแล้ง)

โหวดบ้านหนองพอก อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด ได้พัฒนามาเป่าประกอบวงโปงลาง โดยคณะโหวดเสียงทอง เมื่อปี
พ.ศ. 2518 ได้ไปประกวดดนตรีพื้นบ้านที่สถานีวิยุ 909 สกลนคร เป็นวงแรกที่นำโหวดมาเป่าประกอบวงพิณ แคน โปงลาง นับว่าเป็นเครื่องดนตรี
ที่มีเสียงโหยหวล ไพเราะจับใจ โหวดเล็กเป็นเครื่องเป่าที่ทำขึ้นเพื่อเลียนแบบโหวดใหญ่ แต่มีขนาดลูกโหวดเล็กลงทำให้เสียงสูงกว่าโหวดใหญ่
อีก 1 ช่วงเสียงเทียบได้เหมือนกับเสียงผู้หญิงเล็ก แหลมสูง มีลูกโหวด 10 ลูก เริ่มจากเสียงต่ำสุด เสียงมี ซอล ลา โด เร มี ซอล ลา โด เร ใช้เป่า
ประสานเสียงขนานคู่ 8 กับโหวดใหญ่ โหวดใหญ่ เป็นเสียงเป่าทำด้วยไม้กู้แคนและขี้สูดสำหรับเกาะยึดติดแน่นมีแกนทำด้วย กระบอกไม้ไผ่ขนาดเล็ก
มีหางยาวออกมาสำหรับผูกเชือกแกว่ง เดิมทีใช้แกว่งแล้วขว้างปาให้สูงขึ้นและตกไกลจะได้ยินเสียงไพเราะ ต่อมาวงโหวดเสียงทอง อำเภอหนองพอก ได้นำมาเป่าประกอบกับวง พิณ แคน โปงลาง เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2518 จึงทำให้โหวดเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเพราะมีเสียง
โหยหวล เศร้าโศก หวานไพเราะ

การพัฒนาเป็นเครื่องดนตรี

การนำโหวดมาปรับปรุงใช้เครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ทำขึ้นครั้งแรกโดยชาวอำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด มีนายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เป็นหมอโหวดคนสำคัญ เป็นผู้คิดเอาโหวดประสมกับวงแคนและซุง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511-2516 เรียกวงดนตรีชนิดนั้นว่า "วงโหวดเสียงทองหนองพอก" ต่อมาปี พ.ศ. 2517 จึงนำวงโปงลางเข้ามาประสมด้วย อันเป็นสาเหตุให้ต้องปรับปรุงมาตราเสียงของโหวดให้ตรงกับมาตราเสียงของโปงลาง คือมีระดับเสียงจากต่ำไปสูง จนแพร่หลายไปทั่วประเทศ และต่างประเทศจนถึงปัจจุบัน
โหวด

ส่วนประกอบของโหวด การทำโหวด
การเรียนเป็นช่างทำโหวด จะเรียนรู้จากผู้รู้ โดยหลักการส่วนใหญ่ๆ ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยต้องอาศัยทักษะความชำนาญ ความแม่นยำในการฟังระดับเสียง และคิดค้นรูปแบบใหม่ๆ เพื่อพัฒนาให้ทันสมัย

วัสดุที่ใช้ในการทำโหวด
ประกอบด้วยไม้ไผ่เฮี้ยหรือไม้ไผ่รวก และขี้สูด (รังของแมลงจำพวกแมงน้อย แมงน้อยนี้ชอบทำรังตามจอมปลวกหรือตามโพรงไม้ รังของมันมีน้ำหวานปั้นเอาน้ำหวานออก เรียก ขี้สูดแมงน้อย แมงน้อยไม่มีเหล็กไน ต่อยคนไม่เป็น)

อุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ใช้ในการทำโหวด
ได้แก่ มีดอีโต้ (สำหรับตัดลำไม้ไผ่) มีดตอก (สำหรับเจียน ตกแต่ง) ไม้สำหรับปรับระดับเสียง และน้ำมันก๊าด (สำหรับล้างทำความสะอาด)

ขั้นตอนในการทำโหวด
  1. นำไม้ไผ่เฮี้ยที่เลือกสรรแล้ว มาตัดเรียงความยาวลดหลั่นกันตามลำดับ
  2. ตัดแต่งลูกโหวดแต่ละลูก โดยตัดเฉียงเป็นมุม 45 องศา อุดรูลูกโหวดด้วยขี้สูดแล้วปรับระดับเสียง
  3. นำไม้รวกมาตัดแต่งทำเป็นแกนโหวด โดยเลือกไม้ไผ่ให้มีขนาดใหญ่หรือเล็กตามขนาดของลูกโหวด
  4. นำลูกโหวดมาแปะติดกับแกนโหวด โดยใช้ขี้สูดเป็นตัวยึดโดยรอบ
  5. นำขี้สูดอีกส่วนหนึ่งติดที่หัวของโหวด ตกแต่งให้เรียบนูนสวยงาม และตกแต่งรูลูกโหวดให้เป่าง่ายไม่เปลืองลม
ขนาดของโหวด

ขนาดของโหวดแต่ดั้งเดิมนั้นนิยมทำกันอยู่ 3 ขนาด คือ 1) ขนาดเล็ก มีลูกโหวด 3-7 ลูก 2) โหวดกลาง มีลูกโหวด 9 ลูก 3) โหวดใหญ่ มีลูกโหวด 11-13 ลูก

โหวด ความยาวของลูกโหวดในแต่ละลูกนั้นจะสั้นยาวแตกต่างกัน ลูกที่ยาวที่สุดประมาณ 25 เซนติเมตร ลูกต่อมายาวลดหลั่นกันลงมา จนถึงลูกที่สั้นที่สุด ประมาณ 6 เซนติเมตร คนโบราณเรียกลูกโหวดลูกที่ยาวที่สุดว่า "ลูกโอ้" ลูกที่เหลือไม่ปรากฎชื่อ ในปัจจุบันจะเรียกชื่อลูกโหวดตามระดับเสียงโน้ตสากล คือ โด เร มี ฟา ซอล ลา ที
โหวดพื้นเมืองมี 5 บันไดเสียง คือ โด เร ฟา ซอล ลา แต่ในปัจจุบันมีการปรับระดับเสียงให้ครบทั้ง 7 เสียง เพื่อให้สามารถนำไปบรรเลงประกอบวงดนตรีสากลได้ ทางดนตรีหรือลายโหวดประกอบการ
แสดงส่วนมากเป็นลายที่แต่งขึ้นใหม่ โดยอาศัยทำนองจากลายแคน จากทำนองหมอลำ จากทำนองสรภัญญะบ้าง

ประเภทของโหวด โหวดมี 3 ประเภท คือ
  1. โหวดกลม ใช้เป่าเป็นเครื่องดนตรีประกอบวงดนตรีพื้นเมืองอีสานนิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบัน
  2. โหวดแกว่ง ลักษณะเหมือนโหวดกลม แต่ต่างกันตรงที่ติดหางยาวไว้สำหรับแกว่งให้เกิดเสียง
  3. โหวดแผงใช้เป่าเหมือนโหวดกลมแต่ได้ดัดแปลงการติดตั้งลูกดหวดจากการติดรอบแกนมาเป็นการติดกันเป็นแผง
    เหมือนกับแคนแต่เป็นแถวเดี่ยวแถวเดียว

ที่มา:http://cdare.bpi.ac.th/Culture%20center/%E0%B9%82%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%94.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น